ความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจำเป็นต้องผลักดันให้เกิดความร่วมมือกันในระดับโลก ซึ่งประเทศไทยตระหนักถึงความจำเป็นในการร่วมกับประชาคมโลกในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง จึงได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นรัฐภาคีภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) และพิธีสารโตเกียว (Kyoto Protocol: KP) เมื่อปี พ.ศ. 2537 และ พ.ศ. 2545 ตามลำดับ รวมทั้งมีการดำเนินงานร่วมกันในระดับอาเซียน เพื่อแก้ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกัน โดยการจัดทำข้อตกลงร่วมกันด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับภูมิภาคอาเซียน ภายใต้แผนปฏิบัติการอาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กลุ่มงานประสานงานกลางอนุสัญญา
- จัดทำและเสนอแนะกรอบแนวทางและท่าทีเจรจาของประเทศในการประชุมกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พิธีสาร และความตกลงภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ รวมถึงกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี
- จัดทำและพัฒนาระบบฐานข้อมูลสนับสนุนการเจรจาของประเทศในการประชุมกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พิธีสาร และความตกลงภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ รวมถึงกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- ประสานการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พิธีสาร และความตกลงภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ รวมถึงกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่วมกับหน่วยงานในประเทศ หน่วยงานต่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ
- เผยแพร่องค์ความรู้และการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พิธีสาร และความตกลงภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ รวมถึงกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหน่วยประสานงานกลางของประเทศ (National Focal Point) ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- ปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติและคณะทำงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
- ปฏิบัติงานหรือดำเนินการอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมาย