การจัดทำบัญชี ก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย เสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

การจัดทำรายงานบัญชีก๊าซเรือนกระจก
การดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย เป็นการดำเนินงานตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nation Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมให้สัตยาบันเป็นภาคีในกรอบอนุสัญญา UNFCCC เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2537 (ค.ศ. 1994) โดยอนุสัญญา UNFCCC ได้กำหนดพันธกรณีแก่ประเทศภาคี โดยใช้หลักการ “ความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง โดยคำนึงถึงขีดความสามารถ” หรือ “Common but differentiated responsibilities and respective capabilities” โดยจำแนกประเทศภาคีเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มภาคผนวกที่ 1 (Annex I) คือ ประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้วที่มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากมาก่อน จัดเป็นกลุ่มที่ต้องมีพันธกรณีที่เป็นรูปธรรมในการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น มีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกและดำเนินมาตรการที่เกี่ยวข้อง กลุ่มภาคผนวกที่ 2 (Annex II) คือ ประเทศพัฒนาแล้วตามภาคผนวกที่ 1 แต่ไม่รวมประเทศที่มีการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ (จากสังคมนิยมเป็นทุนนิยม) โดยกลุ่มนี้ จัดเป็นกลุ่มที่ต้องให้การสนับสนุนทางการเงิน การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี และการสร้างศักยภาพ ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาในการลดก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกลุ่มนอกภาคผนวกที่ 1 (Non-Annex I) คือ ประเทศกำลังพัฒนา (ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศนอกภาคผนวกที่ 1) ซึ่งไม่มีพันธกรณีที่จะต้องตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก แต่มีพันธกรณีในการ
  1. จัดทำและปรับปรุงบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศ รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวให้ประเทศภาคีอนุสัญญาฯ ทราบ
  2. จัดทำแผนของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  3. ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกรายสาขา ซึ่งรวมถึงพลังงาน คมนาคมขนส่ง อุตสาหกรรม เกษตร ป่าไม้ และการจัดการของเสีย
  4. สนับสนุนการอนุรักษ์แหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ ป่าไม้ ชีวมวล และระบบนิเวศ ทั้งบนบก ชายฝั่ง และทางทะเล
  5. ประสานความร่วมมือเพื่อรับมือและปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  6. คำนึงถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการกำหนดนโยบายและแผนด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
  7. ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้อง
  8. ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงวิชาการ เชิงเศรษฐกิจสังคม และเชิงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  9. ส่งเสริมความร่วมมือในการให้การศึกษา การฝึกอบรม และการสร้างความตระหนักแก่สาธารณชนในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  10. จัดทำรายงานแห่งชาติ ครอบคลุมข้อมูลบัญชีก๊าซเรือนกระจก สถานการณ์และการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ เผยแพร่ให้แก่ประเทศภาคีทราบ

ที่ผ่านมาประเทศไทย ได้จัดส่งรายงานแห่งชาติ (National Communication: NC) ต่อสำนักเลขาธิการอนุสัญญา UNFCCC แล้วทั้งสิ้น จำนวน 3 ฉบับ และได้จัดส่งรายงานความก้าวหน้ารายสองปี (Biennial Update Report: BUR) แล้วทั้งสิ้น จำนวน 3 ฉบับ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

รายงานแห่งชาติ (National Communication: NC)
รายงานแห่งชาติ ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ปี พ.ศ.) เผยแพร่ ดาวน์โหลด
รายงานแห่งชาติ ฉบับที่ 1 2537 13 พ.ย. 2543 INC
รายงานแห่งชาติ ฉบับที่ 2 2537, 2543-2547 24 มี.ค. 2554 SNC
รายงานแห่งชาติ ฉบับที่ 3 2543-2556 29 ส.ค. 2561 TNC
รายงานความก้าวหน้ารายสองปี (Biennial Update Report: BUR)
รายงานความก้าวหน้ารายสองปี ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ปี พ.ศ.) เผยแพร่ ดาวน์โหลด
รายงานความก้าวหน้ารายสองปี ฉบับที่ 1 2554 29 ธ.ค. 2558 BUR1
รายงานความก้าวหน้ารายสองปี ฉบับที่ 2 2556 29 ธ.ค. 2560 BUR2
รายงานความก้าวหน้ารายสองปี ฉบับที่ 3 2559 25 ธ.ค. 2563 BUR3