การประชุมคณะกรรมการกำกับโครงการ NDC Support Project: Delivering Sustainability through Climate Finance Actions in Thailand (NDC Support) ครั้งที่ 2/2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
เมื่อวันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม 2564 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย จัดการประชุมคณะกรรมการกำกับโครงการ NDC Support Project: Delivering Sustainability through Climate Finance Actions in Thailand (NDC Support) ครั้งที่ 2/2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
โดย ดร.ณัฎฐนิช อัศวภูษิตกุล ผู้อำนวยการกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้รับมอบหมายจาก เลขาธิการ สผ. เป็นประธานในการประชุม นางรสริน อมรพิทักษ์พันธ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนามาตรการและกลไก ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ
การจัดประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อ รับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการ NDC Support Project และการได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมจากสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสวีเดน (SIDA) ทั้งนี้ คณะกรรมการได้อนุมัติการปรับเปลี่ยนกิจกรรมและงบประมาณภายใต้ผลผลิตที่ 2 และ ผลผลิตที่ 3 ของโครงการฯ รวมถึงอนุมัติการขยายระยะเวลาและการปรับปรุงแผนงานและงบประมาณ ปี พ.ศ. 2564 – 2565 ของโครงการ ซึ่งจะนำไปสู่การสนับสนุนให้ประเทศไทยมีรูปแบบการดำเนินงานและกลไกทางการเงินที่ตอบสนองต่อเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และการพัฒนาระบบงบประมาณสำหรับใช้บรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มีหน่วยงานเข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น จำนวน 19 หน่วยงาน
การประชุมเชิงปฏิบัติการ“การจัดทำภาพอนาคตการลดก๊าซเรือนกระจกในสาขาต่าง ๆ ของประเทศไทย”
ดร. ณัฏฐนิช อัศวภูษิตกุล ผู้อำนวยการกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้เกียรติกล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ“การจัดทำภาพอนาคตการลดก๊าซเรือนกระจกในสาขาต่าง ๆ ของประเทศไทย” ภายใต้โครงการ “Strengthen Thailand’s expertise to support long-term GHG mitigation planning” วันอังคารที่ 19 ตุลาคม 2564 เวลา 09.00 – 16.30 น. ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และดร.อังคณา เฉลิมพงศ์ ผู้อำนวยการโครงการการดำเนินงานด้านนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมฯ
การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาทักษะ องค์ความรู้ และร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ในการมองภาพอนาคตและแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศ โดยมีผู้แทนจาหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำและขับเคลื่อนนโยบายด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และเจ้าหน้าที่ สผ. เข้าร่วมประชุมฯ จำนวนประมาณ 100 คน