คู่มือการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย (Handbook on Measurement, Reporting and Verification (MRV) of Greenhouse Gas Inventory of Thailand) ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (Industrial Processes and Product Use Sector) ได้ถูกพัฒนาขึ้นตามแนวทางของ 2006 IPCC Guidelines โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางดำเนินการจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลบัญชีก๊าซเรือนกระจก โดยเริ่มใช้งานตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา เพื่อให้สามารถนำข้อมูลเข้าสู่ระบบสารสนเทศการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย (Thailand Greenhouse Gas Emissions Inventory System: TGEIS) สำหรับการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และประกอบในรายงานแห่งชาติ (National Communication: NC) หรือรายงานความก้าวหน้ารายสองปี (Biennial Update Report: BUR) ได้อย่างถูกต้อง สมบูรณ์ ดังนั้น สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จึงได้ทำการศึกษา ทบทวนและปรับปรุงรูปแบบแนวทางการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบ รวมทั้งพัฒนาแบบฟอร์มการรวบรวมข้อมูลกิจกรรมให้มีความถูกต้อง สมบูรณ์ และสอดคล้องกับแนวทางการจัดเก็บข้อมูลและฐานข้อมูลของหน่วยงานสำหรับการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ตามแนวทางคู่มือ 2006 IPCC Guidelines รวมไปถึงความถูกต้อง แม่นยำ และความสะดวกในการนำเข้าข้อมูลตามแบบฟอร์มนำเข้าข้อมูลกิจกรรม (Data Entry Template: DET) ของระบบ TGEIS โดยจัดทำเป็นคู่มือการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบ (MRV) ภาคเกษตร เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติงานในการจัดเก็บและรายงานข้อมูลสำหรับจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกในภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ ได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสมกับขีดความสามารถและทรัพยากรที่มีอยู่ โดยในคู่มือฉบับนี้ประกอบไปด้วย 7 บท ดังนี้
บทที่ 1 บทนำ เป็นบทที่อธิบายความเป็นมา และวัตถุประสงค์ในการจัดทำคู่มือการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์
บทที่ 2 วิธีการใช้คู่มือ กล่าวถึงขั้นตอนการใช้งานคู่มือสำหรับการจัดเก็บและรายงานข้อมูลกิจกรรม
บทที่ 3 กรอบการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กล่าวถึงกรอบการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการจำแนกกลุ่มกิจกรรมในการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ ตามแนวทางคู่มือ 2006 IPCC Guidelines
บทที่ 4 บทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กล่าวถึงบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดเก็บและรายงานข้อมูลกิจกรรมสำหรับการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยในภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์
บทที่ 5 วิธีการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กล่าวถึงวิธีการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำแนกตามกลุ่มกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์
บทที่ 6 วิธีการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบข้อมูล กล่าวถึงวิธีการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบข้อมูลก่อนส่งให้ สผ. ใช้ในการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกเพื่อประกอบในรายงานแห่งชาติและรายงานความก้าวหน้ารายสองปี
บทที่ 7 แบบฟอร์มและวิธีการกรอกข้อมูล กล่าวถึงแบบฟอร์มและวิธีการรายงานข้อมูลกิจกรรมที่จะให้หน่วยงานรายงานข้อมูลที่ผ่านกระบวนการควบคุมคุณภาพ (QC) เรียบร้อยแล้วแก่ สผ. เพื่อใช้ในการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศในภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์