ประเทศไทย สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้สำเร็จเกินเป้าหมายแล้ว 2 เท่าตัว หากระบบคมนาคมแล้วเสร็จทั้งระบบจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้มากขึ้น
นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวถึงผลสรุปการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 25 (COP 25) การประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 15 (CMP 15) และการประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส สมัยที่ 2 (CMA 2) ณ กรุงมาดริด ราชอาณาจักรสเปน เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ว่า ประเทศไทย ได้แสดงจุดยืนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศและความพยายามยกระดับการดำเนินงานของอาเซียน ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบความสำเร็จลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณร้อยละ 14 ในปี 2560 เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2 เท่าตัวของเป้าหมายในปี 2563 ซึ่งจะเป็นตัวอย่างการมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กับประเทศต่างๆในภูมิภาคด้วย โดยตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงจากด้านพลังงานเพียงเท่านั้นยังไม่รวมด้านคมนาคมและขนส่ง ทั้งนี้ หากมีการพัฒนาระบบคมนาคมที่ครบทั้งระบบแล้วจะส่งผลให้ตัวเลขของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ได้รวดเร็วแน่นอน จากนี้จะบูรณาการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับประเด็นสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การลดมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ และการจัดการขยะทะเล เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ร่วมกับประเทศต่าง ๆ ภายใต้กลไกความร่วมมือพหุภาคี
เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวย้ำว่า ยังได้รับความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและวิทยาการสมัยใหม่จากประเทศเยอรมนีที่จะช่วยส่งเสริมการเพาะปลูกและปศุสัตว์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทนระหว่างขั้นตอนการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีความก้าวหน้า ผลผลิตมีคุณภาพ และมีส่วนช่วยรักษาสภาพแวดล้อมของโลกมากขึ้น
ที่มา: Radio-สถานีวิทยุกระจายแสียงแห่งประเทศไทย