เป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (2nd Update NDC)
ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่จะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และด้วยทุกวิถีทาง โดยประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในหรือก่อนปี ค.ศ. 2065 หากได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงิน เทคโนโลยี และการเสริมสร้างขีดความสามารถจากความร่วมมือระหว่างประเทศ และกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ที่เหมาะสมประเทศไทยจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้ NDC ร้อยละ 40 ภายในปี ค.ศ. 2030 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (2nd Update NDC) มีรายละเอียดดังนี้
- ค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกรณีดำเนินงานปกติ (Business As Usual: BAU) ในปี ค.ศ. 2030 จำนวน 555 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2eq)
- ค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด ณ ปี ค.ศ. 2025 (Peaking Year) เท่ากับ 368 MtCO2eq และกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ร้อยละ 40 จาก BAU ในปี ค.ศ. 2030 คิดเป็น 222 MtCO2eq โดยเป็นการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศ (Unconditional NDC) ร้อยละ 30 จาก BAU และกรณีที่ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกจากต่างประเทศ (Conditional NDC) ร้อยละ 10 จาก BAU
- แนวทางและมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรลุเป้าหมาย NDC ในปี ค.ศ. 2030 จำนวน 222 MtCO2eq ประกอบด้วย
- สาขาพลังงานและคมนาคมขนส่ง 216 MtCO2eq
- สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ 1.1 MtCO2eq
- สาขาการจัดการของเสีย 2.6 MtCO2eq
- สาขาเกษตร 2.6 MtCO2eq