แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 - 2573 สาขาพลังงาน
แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 สาขาพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผน (สนพ.) ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ สาขาพลังงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชน
คณะทำงานประสานงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกระทรวงพลังงาน ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2560 มีมติเห็นชอบ (ร่าง) กรอบแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ สาขาพลังงาน และ สนพ. ได้ดำเนินการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำรายละเอียดของ (ร่าง) แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ สาขาพลังงาน และคณะทำงานประสานงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกระทรวงพลังงาน ในการประชุมครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2561 มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ สาขาพลังงาน และได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2561
ในส่วนของแผนที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจกในสาขาพลังงาน ประกอบด้วย 3 แผนหลัก ได้แก่
1) แผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558 – 2579 (Energy Efficiency Plan: EEP2015) มีเป้าหมายลดความเข้มการใช้พลังงาน (Energy Intensity: EI) ลงร้อยละ 30 ในปี พ.ศ. 2579 (ค.ศ. 2036) เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2553 (ค.ศ. 2010) ซึ่งจะดำเนินการใน 4 กลุ่มเศรษฐกิจ คือ (1) ภาคอุตสาหกรรม (2) ภาคอาคารธุรกิจ อาคารของรัฐ (3) ภาคที่อยู่อาศัย และ (4) ภาคขนส่ง
2) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558 – 2579 (Alternative Energy Development Plan: AEDP2015) มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน โดยพิจารณาถึงศักยภาพแหล่งพลังงานทดแทน ที่สามารถนำมาพัฒนาได้ทั้งในรูปของพลังงานไฟฟ้า ความร้อน และเชื้อเพลิงชีวภาพ คิดเป็นร้อยละ 30 ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในปี พ.ศ. 2579
3) แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 (Power Development Plan: PDP2018) มีแนวทางในการจัดทำแผน 4 ข้อหลัก คือ (1) ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (2) จัดสรรโรงไฟฟ้าหลักเพื่อความมั่นคงรายภูมิภาคตามความจาเป็นและเพียงพอต่อการรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้า (3) พลังงานหมุนเวียนมีนโยบายรับซื้อเป็นรายปีตามนโยบายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและรับซื้อด้วยราคาไม่เกินกว่า Grid Parity เพื่อรักษาระดับราคาไฟฟ้าขายปลีกไม่ให้สูงขึ้น (4) นโยบายอนุรักษ์พลังงานสามารถพิสูจน์ความเชื่อมั่นด้วยคุณภาพและสามารถแข่งขันด้วยราคาไม่เกินกว่า Grid Parity
แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 สาขาพลังงาน มีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกได้ไม่น้อยกว่า 82 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) เมื่อเทียบกับกรณีปกติ โดยมียุทธศาสตร์ที่ใช้ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจก 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ สาขาพลังงาน ยุทธศาสตร์ที่ 2 เตรียมความพร้อมสำหรับการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ สาขาพลังงาน ในระยะยาว และยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างเครือข่ายความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน สามารถสรุปเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ สาขาพลังงาน ตามมาตรการ/กิจกรรม ดังนี้


