หน่วยประสานงานหลัก National Designated Authority (NDA) ของกองทุนภูมิอากาศสีเขียวประเทศไทย
หน่วยประสานงานหลัก National Designated Authority (NDA) ของกองทุนภูมิอากาศสีเขียวประเทศไทย โดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2558 มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นหน่วยประสานงานหลัก NDA เพื่อทำหน้าที่ประสานและติดต่อสื่อสารกับกองทุน
หน้าที่และความรับผิดชอบหลัก
- กำกับดูแลในเชิงยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ : กำกับดูแลในเชิงยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ซึ่งหมายรวมถึงความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในการนี้ ได้มีการจัดทำ “กรอบการพิจารณาขอรับการสนับสนุนทางการเงินระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (Thailand Country Programme: TCP)” ขึ้น
- ประสานกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง : ประสานกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดลำดับความสำคัญของภาคส่วนที่ต้องการได้รับการสนับสนุนจากกองทุน ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม ผู้พัฒนาโครงการภาคเอกชน สถาบันการเงิน และชุมชน รวมทั้งกลุ่มเปราะบาง สตรี และชนพื้นเมืองซึ่งเป็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินเกิจกรรมของกองทุน
- เสนอชื่อขอรับการรับรองเป็นหน่วยงานปฏิบัติระดับชาติ : เสนอชื่อหน่วยงานที่ประสงค์ขอรับการรับรองเป็นหน่วยงานปฏิบัติการระดับชาติรับรองเป็น Direct Access Entity (DAE) ซึ่งเป็นหนึ่งในความรับผิดชอบเบื้องต้นของ NDA ในการประสานกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีศักยภาพและเสนอชื่อเพื่อขอรับการรับรองต่อไป
- ออกหนังสือรับรองว่าประเทศไทยไม่มีข้อคัดค้านต่อข้อเสนอโครงการ : พิจารณาออกหนังสือรับรองว่าประเทศไทยไม่มีข้อคัดค้านต่อข้อเสนอโครงการเนื่องจากมีความสอดคล้องกับแผนและยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งหนังสือรับรอง No-Objection Letter (NOL) นี้ออกให้โดย NDA และส่งไปยังสำนักเลขาธิการกองทุน เพื่อใช้ประกอบการนำส่งข้อเสนอโครงการของหน่วยงานปฏิบัติการที่ได้รับการรับรอง (Accredited Entity: AE) ทั้งนี้ หากมีการส่งข้อเสนอโครงการโดยไม่มีหนังสือ NOL สำนักเลขาธิการกองทุนจะแจ้งต่อมายัง NDA
- เสนอแนะและให้แนวทางการจัดสรรเงินกองทุน GCF เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินงาน : เป็นผู้เสนอแนะและให้แนวทางการจัดสรรเงินกองทุน GCF เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานของกองทุน GCF ประเทศไทย
ทั้งนี้ NDA สามารถเป็นผู้รับโดยตรงจากการใช้เงินกองทุน หรืออาจมอบหมายให้หน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชน ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ภูมิภาค หรือนานาชาติ ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการเงินทุน ซึ่งเงินกองทุนดังกล่าวสามารถใช้ในการสนับสนุนหน่วยงานที่ประสงค์ขอการรับรองเป็นหน่วยงานปฏิบัติการระดับชาติ