สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณู สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้ดำเนินความร่วมมือภายใต้แผนงานการปกป้องสภาพภูมิอากาศในระดับสากล (International Climate Initiative: IKI) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ประกาศแผนงานปกป้องสภาพภูมิอากาศไทย – เยอรมัน ระหว่างปี ค.ศ.2022-2026 รายละเอียดตามเอกสารด้านล่างนี้
ความเป็นมา
ในปัจจุบันการใช้พลังงานไฟฟ้าของอุปกรณ์ทำความเย็นและปรับอากาศคิดเป็นกว่าร้อยละ 50 ของการใช้พลังงานทั้งหมดในประเทศ และในอนาคตหากไม่มีมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานอย่างจริงจัง คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2573 ความต้องการใช้พลังงานจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว อีกทั้งอุตสาหกรรมนี้ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศ ดังนั้นการปรับปรุงเทคโนโลยีจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกภายในปี พ.ศ. 2573 ในขณะเดียวกันประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น จึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและเตรียมความพร้อมในการปรับตัวให้สอดคล้องกับเงื่อนไขตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ดังนั้นจึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตไปสู่การใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงและสารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
วัตถุประสงค์
โครงการ RAC NAMA มีจุดประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนประเทศไทยให้สามารถบรรลุเป้าหมายการลดการใช้พลังงานตามแผนอนุรักษ์พลังงาน และเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศที่ได้แสดงเจตจำนงไว้ โครงการจะสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงและสารทำความเย็นธรรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งช่วยส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ โดยสนับสนุน 4 กลุ่มอุปกรณ์หลักในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ได้แก่ ตู้เย็น ตู้แช่ เครื่องปรับอากาศ และเครื่องทำน้ำเย็น
กิจกรรมของโครงการ

หน่วยงานสนับสนุนงบประมาณโครงการ
โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน NAMA Facility โดยกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ การก่อสร้าง และความปลอดภัยทางปรมาณู (BMUB) ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และกระทรวงธุรกิจและยุทธศาสตร์ ด้านพลังงานและอุตสาหกรรม (BEIS) ของสหราชอาณาจักร
ผู้ร่วมดำเนินงานโครงการหลัก
- สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)
- กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)
หน่วยงานอื่นๆ ที่ร่วมดำเนินงานโครงการ
- กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)
- กรมโยธาธิการและผังเมือง (ยผ.)
- สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)
- การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
- กรมพัฒนาฝืมือแรงงาน (กพร.)
- สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)
- สถาบันไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ (สฟอ.)
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
5 ปี (เมษายน 2559 – มีนาคม 2564)
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา
- ดำเนินมาตรการจูงใจทางการเงินในฐานะผู้จัดการเงินทุนโครงการเพื่อส่งเสริมการผลิตและการใช้เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นที่มีประสิทธิภาพสูง และใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้แก่ผู้ผลิตและผู้ซื้อระดับครัวเรือนและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงภาคบริการ เช่น การฝึกอบรมและการทดสอบอุปกรณ์ โดยได้สนับสนุนผู้ประกอบการในการปรับเปลี่ยนสายการผลิตเครื่องทำความเย็น ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนสายการผลิตและออกผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารทำความเย็น ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนสายการผลิตและออกผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะมีผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้ภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2563
- การอบรมการจัดการใช้สารทำความเย็นที่ติดไฟได้อย่างปลอดภัย เพื่อส่งเสริมการใช้อุปกรณ์ที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ ผ่านการพัฒนาบุคลากรช่างเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานและใช้สารทำความเย็นธรรมชาติได้ตามมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล โดยโครงการฯ ร่วมกับสาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมการทำความเย็นและการปรับอากาศ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) จัดการฝึกอบรมการใช้สารทำความเย็นที่ติดไฟได้อย่างปลอดภัยและจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมจำนวน 8 แห่งทั่วประเทศ
โอกาสในการขยายการดำเนินโครงการระยะถัดไป: เมษายน 2564 – มีนาคม 2566
งบประมาณที่คาดการณ์: ประมาณ 2.5 ล้านยูโร
หน่วยงานผู้ร่วมดำเนินโครงการที่คาดการณ์: สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)
สถานการณ์ปัจจุบันในภาคอุตสาหกรรมการทำความเย็นและนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรายสาขา
- การนำเสนอเทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียวเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย กล่าวคือ โครงการ RAC NAMA เป็นส่วนหนึ่งของแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (NDC Roadmap) และแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (NDC Action Plan) สำหรับภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (IPPU) ซึ่งมี กรอ. เป็นหน่วยงานดำเนินการหลัก
- ประเทศไทยคาดการณ์ว่าจะมีการให้สัตยาบันต่อการแก้ไขเพิ่มเติม Kigali Amendment to the Montreal Protocol) ในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งจะก่อให้เกิดพันธสัญญาระยะยาวสำหรับการดำเนินนโยบายในภาคอุตสาหกรรมการทำความเย็น ในขณะเดียวกัน กำหนดเวลาการดำเนินการที่กำหนดโดยการแก้ไขเพิ่มเติม Kigali นี้ จะมีผลบังคับใช้ที่ล่าช้าเกินกว่าที่จะสามารถตอบสนองต่อข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ (NDC) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากไม่มีการกำหนดเป้าหมาย เครื่องมือ และกรอบเวลาที่สอดคล้องเชื่อมโยงกัน
- กระบวนการระยะยาวที่เกี่ยวข้อง (อาทิ การตรวจวัด รายงาน และทวนสอบ (MRV) รวมถึงการแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร) ได้มีการเริ่มดำเนินการไปบางส่วน โดยมีการนำเกณฑ์มาตรฐานทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องมาใช้งาน
- กองทุน RAC NAMA เป็นเครื่องมือหนึ่งของประเทศไทยในการจัดหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีการทำความเย็นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูง ขณะนี้โครงการกำลังหารือในประเด็นที่เกี่ยวกับเงินทุนที่เหลือจากกองทุน RAC NAMA
- ผู้ผลิตด้านเทคโนโลยีการทำความเย็นอย่างน้อยสิบรายได้หันมาใช้เทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียว ในขณะที่ผู้ผลิตรายใหญ่ด้านเทคโนโลยีเครื่องทำความเย็นนั้นอยู่ในระยะของการนำเทคโนโลยีดังกล่าวเข้าสู่ตลาด
- ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์แสดงความสนใจในเทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียวเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการเร่งการเข้าถึงและขยายฐานของตลาด มีความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้ผลิตภัณฑ์อย่างใกล้ชิดมากขึ้น
ผลลัพธ์และผลผลิตที่คาดการณ์
ผลลัพธ์: การเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของตลาด รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดความต้องการของตลาดในทิศทางที่เพิ่มขึ้น โดยเสริมสร้างความร่วมมือกับกลุ่มผู้ใช้ขนาดใหญ่และผู้พัฒนาโครงการสำหรับการนำเทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียวไปใช้
ผลผลิตที่ 1 การบริหารจัดการโครงการ
การเสริมสร้างบทบาทของหน่วยงานผู้ร่วมดำเนินการในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนในการดำเนินการร่วมกัน (Implementing consortium) โดยโครงการจะร่วมมือกับ มจพ. ในการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการทำความเย็น (Cooling Innovation Hub) และมอบอำนาจให้กับ กฟผ. มากขึ้นในส่วนของความร่วมมือทางการเงิน เพื่อให้มั่นใจว่าความรู้จะคงอยู่ในประเทศแม้โครงการจะสิ้นสุดลง
ผลผลิตที่ 2 กรอบด้านนโยบายและกฎระเบียบ
การสนับสนุนกระบวนการการจัดทำนโยบายระยะยาวเพื่อปรับปรุงกรอบด้านกฎระเบียบสำหรับภาคอุตสาหกรรมการทำความเย็น โดยโครงการจะสนับสนุน สผ. กรอ. และ พพ. ในการดำเนินนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบรายสาขา (MRV, NDC) และสร้างความสอดคล้องกับเป้าหมายภาคบังคับและมาตรการลงโทษภายใต้การแก้ไขเพิ่มเติม Kigali Amendment ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ในการจัดตั้งระบบการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบ (MRV) ของประเทศสำหรับสารทำความเย็นฟลูโอริเนต (F-Gas เช่น ในภาค IPPU) การสนับสนุนมาตรฐานอุตสาหกรรมด้านความปลอดภัยของเครื่องปรับอากาศ (มอก. 1529-2561) และการในการแก้ไขเกณฑ์พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร โครงการจะสนับสนุน สผ. และ กรอ. ในการศึกษาและพัฒนาธุรกิจต้นแบบเพื่อจัดการของเสียจากซากเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นที่ใช้สารทำความเย็นฟลูโอริเนต
ผลผลิตที่ 3 / ผลผลิตที่ 4 นวัตกรรมการทำความเย็น การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการฝึกอบรมทางเทคนิค
การจัดตั้งและจัดหาเงินทุนสนับสนุนให้กับศูนย์นวัตกรรมการทำความเย็น (Cooling Innovation Hub) (เครือข่ายที่เป็นทางการของอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (RAC) สำหรับผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ ผู้พัฒนาโครงการ บริษัทจัดการพลังงาน (ESCO)) เพื่อให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคในการนำเทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียวมาใช้งาน (บริการให้คำปรึกษาด้านเทคนิคและการฝึกอบรมด้านวิศวกรรม) และการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา (R&D) ในภาคอุตสาหกรรม RAC โดยสนับสนุนความร่วมมือระหว่างคู่แข่งในลักษณะ pre-competitive โดยศูนย์ฯ นี้จะดำเนินการภายใต้การนำของ มจพ. ในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนในการดำเนินการร่วมกัน และจะได้รับงบประมาณผ่านการจัดหาเงินทุนสนับสนุนจากโครงการฯ นอกจากนี้ ศูนย์ฯ จะรับเป็นเจ้าภาพด้านศูนย์กลางเทคโนโลยี ซึ่งรวบรวมแหล่งอ้างอิงและห้องปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียว (ทั้งระบบปรับอากาศและระบบทำความเย็น) และการจัดการพลังงานเชิงนวัตกรรม (รวมถึงการจัดเก็บพลังงานความร้อน การจัดการความต้องการพลังงานในลักษณะยืดหยุ่น) นอกจากนี้ ยังจะทำหน้าที่เป็นศูนย์วิจัยและฝึกอบรมระดับชาติ รวมถึงประสานงานกับศูนย์ฝึกอบรมอาชีพระดับภูมิภาคสำหรับช่างเทคนิค RAC ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นแล้วภายใต้การสนับสนุนของโครงการฯ ร่วมกับ มจพ. และหน่วยงานร่วมดำเนินการอื่นๆ ในพื้นที่
ผลผลิตที่ 5 ความร่วมมือทางการเงินและการส่งเสริมตลาด)
การใช้กลไกการจัดหาเงินทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินสำหรับนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงตลาดของภาคอุตสาหกรรม RAC โดยโครงการจะสนับสนุน กฟผ. ในการพัฒนาแนวทางการสนับสนุนทางด้านการเงินและการเตรียมโครงการด้านนวัตกรรมและการผลักดันตลาดไปสู่การใช้เทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียว โดยเงินสนับสนุนเป็นเงินทุนที่เหลือจากเงินทุนหมุนเวียนของกองทุน RAC NAMA (ประมาณ 5 ล้านยูโร) และจะสนับสนุุนผู้ผลิตและผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ในการรับเอาเทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียวไปใช้งาน ผ่านการให้เงินอุดหนุน และ/หรือกลไกการเงินต่างๆ
ผลผลิตที่ 6 ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน หรือ public-private-partnerships
การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชนในการระดมทรัพยากรเพื่อพัฒนานวัตกรรม ถ่ายทอดเทคโนโลยี และนำเทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียวไปใช้งาน ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์กลางนวัตกรรมการทำความเย็น (Cooling Innovation Hub) โครงการมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างเครือข่ายสมาชิกภาครัฐและภาคเอกชนขนาดใหญ่ที่จะร่วมกันพัฒนาโครงการนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียว ซึ่งเข้าเกณฑ์ที่จะได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากสถาบันการเงินระดับชาติ ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ฯ และกองทุนนวัตกรรมการทำความเย็น (Cooling Innovation Fund) โครงการจะจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกทางเทคนิคและทางการเงินแบบถาวรที่สามารถสนับสนุนการรับเอาเทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียวไปใช้งานแม้จะสิ้นสุดระยะเวลาโครงการไปแล้วก็ตาม
กิจกรรมหลัก
- สนับสนุนสผ. และ กรอ. ในการดำเนินกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบรายสาขา (IPPU และพลังงาน) ที่สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมคิกาลีของพิธีสารมอนทรีออล ซึ่งไทยตั้งเป้าจะให้สัตยาบันในปี พ.ศ. 2543
- สนับสนุนสผ. และ กรอ. ในกระบวนการการจัดทำนโยบายระยะยาวที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง (เช่น การจัดทำเกณฑ์มาตรฐานและกฎระเบียบในภาคอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ) และในการจัดทำมาตรการเชิงนโยบายเพิ่มเติม (เช่น การจัดการของเสียจากสารทำความเย็นฟลูโอริเนต)
- สร้างความแข็งแกร่งให้หน่วยงานร่วมดำเนินการในพื้นที่ โดยการจัดตั้งและให้การสนับสนุนด้านเงินทุนแก่ศูนย์นวัตกรรมการทำความเย็น (Cooling Innovation Hub) (โดยอาศัยความร่วมมือที่มีอยู่กับมหาวิทยาลัยและบริษัทเอกชน) และจัดตั้งกองทุนนวัตกรรมการทำความเย็น (Cooling Innovation Fund) (โดยใช้ประโยชน์จากกองทุน RAC NAMA ที่มีอยู่) เพื่อให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคและทางการเงินแม้จะสิ้นสุดระยะเวลาโครงการไปแล้วก็ตาม
- ระดมทรัพยากรท้องถิ่นผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน
ความเป็นมา
ข้าวมีความสำคัญอย่างยิ่งในประเทศไทย เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งประเทศ และการทำนาในประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึงร้อยละ 45 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรทั้งหมด ทำให้การทำนาข้าวของประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 4 ของโลกเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ นอกจากนี้การขังน้ำในนาข้าวในพื้นที่เขตนาชลประทานทำให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งมีศักยภาพการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า อีกทั้งการขาดแรงจูงใจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ชาวนาไทยไม่ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงการผลิตข้าวแบบดั้งเดิมไปสู่การผลิตข้าวแบบใหม่ที่ปล่อยมลพิษต่ำ
วัตถุประสงค์
เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตข้าว และปรับเปลี่ยนสู่การผลิตข้าวที่ปล่อยมลพิษต่ำ
แนวทางการดำเนินงาน
กลยุทธ์ที่ 1 เทคโนโลยีการผลิตข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ: โครงการฯ จัดฝึกอบรมเกษตรกรเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีลดก๊าซเรือนกระจกและแนวทางการทำนาแบบยั่งยืน และสนับสนุนการปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาผ่านการจัดตั้งเงินทุนหมุนเวียนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนวิธีการทำนา วิธีนี้สามารถสร้างรายได้ที่มากขึ้นโดยการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม การจัดการที่มีประสิทธิภาพสำหรับปัจจัยทางการเกษตร เช่น การประหยัดน้ำและพลังงานจากการสูบน้ำ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ฯลฯ และการเชื่อมโยงตลาดในการขายข้าวที่ปล่อยมลพิษต่ำ
กลยุทธ์ที่ 2 บริการเทคโนโลยีการผลิตข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ: โครงการฯ สนับสนุนการพัฒนาธุรกิจโดยใช้ประโยชน์จากโครงการสินเชื่อสีเขียวสำหรับการลงทุน เพื่อให้บริการด้านเทคโนโลยีการผลิตข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำแก่เกษตรกร เช่น การปรับระดับพื้นที่ด้วยระบบเลเซอร์ การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และการจัดการฟางและตอซัง
กลยุทธ์ที่ 3 การกำหนดนโยบายและมาตรการสนับสนุน: โครงการฯ สนับสนุนการดำเนินการพัฒนารูปแบบและกลยุทธ์การขยายผล การพัฒนามาตรฐานข้าวยั่งยืนบนพื้นฐานของมาตรฐานเวทีข้าวยั่งยืน (SRP) และการบูรณาการโครงการเข้ากับแผนปฏิบัติงาน และงบประมาณของรัฐบาลไทย
ผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมา
- จัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการฯ คณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ คณะทำงาน และคณะอนุกรรมการระดับจังหวัด จำนวน 6 จังหวัด
- จัดกิจกรรมพัฒนาและเสริมสร้างการทำนาแบบยั่งยืนและลดโลกร้อน
- จัดทำแปลงนาสาธิต 7 แห่ง ซึ่งเป็นการทำนาแบบยั่งยืนและลดโลกร้อน ในพื้นที่ 6 จังหวัดนำร่องของโครงการฯ
- จัดฝึกอบรมการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบ (MRV) แก่เจ้าหน้าที่ภาครัฐ
- พัฒนาแผนการดำเนินงานสำหรับเทคโนโลยีลดก๊าซเรือนกระจก (การปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และการจัดการฟางและตอซัง) รวมทั้งการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน
- พัฒนายุทศาสตร์ตลาดข้าวยั่งยืนและจับคู่กับคู่ค้า
- จัดตั้ง SRP National Chapter สำหรับประเทศไทยเพื่อพัฒนามาตรฐานข้าวยั่งยืนในประเทศไทย
หน่วยงานร่วมดำเนินการ
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
- สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
สิงหาคม 2561 – สิงหาคม 2566
ความเป็นมา
ประเทศไทยได้กำหนด (ร่าง) ข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายหลังปี ค.ศ. 2020 (Intended Nationally Determined Contribution : INDC) โดยมีเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas: GHG) ลงร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับระดับการดำเนินงานตามปกติ (Business-as-Usual: BAU) ภายในปี พ.ศ. 2573 และจะสามารถสูงถึงร้อยละ 25 ขึ้นอยู่กับการเข้าถึงการพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยี แหล่งเงินทุนและการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพที่ดีขึ้นและเพียงพอ ผ่านความตกลงระดับสากลภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ประกอบกับโอกาสและแรงผลักดันที่เกิดขึ้นจากความตกลงปารีส นำมาซึ่งความท้าทายที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงการส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายหลังปี ค.ศ. 2020 (Nationally Determined Contribution: NDC) ของประเทศไทยให้เป็นการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศแบบปราศจากคาร์บอนและมีความสามารถในการฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ในระยะยาว ทั้งนี้ ตามที่ปรากฏใน NDC ประเทศไทยจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนด้านการเงิน การพัฒนาศักยภาพ และด้านวิชาการที่ยั่งยืน เพื่อที่จะสามารถเตรียมการดำเนินงาน และรายงานการดำเนินงานของประเทศภายใต้ความตกลงปารีสได้อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของ NDC ในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ด้วยประสบการณ์การทำงานอันกว้างขวางและหยั่งรากลึกของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ในการสนับสนุนการพัฒนาเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสนับสนุนกลไกทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โครงการสนับสนุนการดำเนินงานตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายหลังปี ค.ศ. 2020: การสร้างความยั่งยืนผ่านกลไกทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย (NDC Support Project: Delivering Sustainability through Climate Finance Actions in Thailand) หรือ โครงการสนับสนุนการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายหลังปี ค.ศ. 2020 (NDC Support) จะสนับสนุนรัฐบาลไทยให้สามารถบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงโดยใช้การดาเนินงานตาม NDC เป็นกลไกเพื่อเพิ่มขนาดการลงทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีส่วนร่วม รวมถึงเอื้อต่อความหลากหลายทางเพศ ซึ่งจะช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายของ NDC และเป็นไปตามความตกลงปารีสรวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
วัตถุประสงค์
เพื่อสนับสนุนประเทศไทยให้สามารถดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้บรรลุเป้าหมายได้ตามแนวทางการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี พ.ศ. 2593 และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2608) โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันกำหนดรายละเอียดกิจกรรมต่าง ๆ ตามกรอบที่กำหนดไว้ในเอกสารโครงการ NDC เช่น การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาแนวทางกลไกทางการเงิน/การลงทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางสังคมโดยเฉพาะมิติความเท่าเทียมระหว่างเพศ เป็นต้น
หน่วยงานสนับสนุนงบประมาณโครงการ
- โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP TRAC)
- สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสวีเดน (SIDA)
- แผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) และกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ การก่อสร้างและความปลอดภัยทางปรมาณูแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน (BMUB)
- กระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาของสหราชอาณาจักร (FCDO)
ผู้ดำเนินงานโครงการหลัก
- โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)
- สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
มกราคม 2561 – ธันวาคม 2571
การดำเนินงานที่ผ่านมา
สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 เรื่อง ร่างบันทึกความตกลงระหว่าง สผ. และ UNDP เห็นชอบและอนุมัติให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย สผ. ลงนามในบันทึกความตกลงร่วมกับ UNDP เพื่อดำเนินโครงการ NDC Support Project: Delivering Sustainability through Climate Finance Actions in Thailand ทั้งนี้ สผ. ได้ลงนามในบันทึกความตกลงตามนัยแห่งมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแล้ว ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 และดำเนินกิจกรรมจนถึงระยะเวลาสิ้นสุดโครงการวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยมีผลการดำเนินงานจำนวน 3 ผลผลิต ดังนี้
ผลผลิตที่ 1 โครงการศึกษาการวิเคราะห์ผลประโยชน์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ตอบสนองการมีส่วนร่วมและมิติหญิงชาย (iCCBA) ประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่
กิจกรรมที่ 1.1 การจัดทำ Climate Change Benefit Analysis Guidelines: CCBA Guidelines ที่ครอบคลุมและตอบสนองมิติเชิงเพศสภาพ
กิจกรรมที่ 1.2 การพัฒนาคู่มือการเงินการคลังด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับรัฐสภา และจัดอภิปรายและสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “บทบาทของรัฐสภาในการร่วมส่งเสริมการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
ผลผลิตที่ 2 การพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการลงทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อบรรลุเป้าหมาย NDC ประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่
กิจกรรมที่ 2.1 การจัดทำเครื่องมือประเมินเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับภาคเอกชนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
กิจกรรมที่ 2.2 โครงการศึกษาเพื่อออกแบบ Energy Efficiency Platform สนับสนุนด้านการเงินรูปแบบใหม่และส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนในด้านการอนุรักษ์พลังงาน
ผลผลิตที่ 3 การออกแบบแนวทางการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ ประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่
กิจกรรมที่ 3.1 โครงการศึกษาการวิเคราะห์ต้นทุน – ผลประโยชน์ของการลงทุนเพื่อสร้างความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านถนนและราง
กิจกรรมที่ 3.2 การจัดทำรายงานกรอบทางการเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Financing Framework: CCFF)
การดำเนินงานปัจจุบัน
จากการประชุมคณะกรรมการกำกับโครงการ NDC ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 คณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาโครงการฯ จากเดิมวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2571 เพื่อให้ครอบคลุมการดำเนินกิจกรรมเครือข่ายการเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย (Climate Finance Network: CFN) ระหว่างปี พ.ศ. 2566 – 2571 และเห็นชอบต่อแผนยุทธศาสตร์ CFN ของประเทศไทย (Country strategy) โดยมีงบดำเนินงานจำนวน 729,500 ดอลลาร์สหรัฐ
CFN มีแผนยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานในระยะแรก จำนวน 4 ปี (พ.ศ. 2566 – 2569) ประกอบด้วย 2 ผลผลิต ดังนี้
ผลผลิตที่ 1 การปฏิรูปกลไกทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เข้มแข็ง เพื่อบรรลุผลลัพธ์ NDC และเสริมสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศ
ผลผลิตที่ 2 ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชนที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น และสร้างแรงจูงใจทางการเมือง เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากการลงทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของภาคเอกชน ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่งของประเทศไทยในการดำเนินงานตาม NDC