Thailand's Forth National Communication/รายงานแห่งชาติ ฉบับที่ 4

รายงานแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (Fourth National Communication: NC4)

ประเทศไทยในฐานะประเทศภาคีของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) มีพันธกรณีในการจัดทำรายงานแห่งชาติ (National Communication: NC) ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและแสดงให้ประเทศภาคีต่างๆ ทราบถึงการมีส่วนร่วมของประเทศไทยในการดำเนินการร่วมกับประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศไทยได้จัดส่งรายงานแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (Fourth National Communication: NC4) ต่อ UNFCCC เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 โดยประกอบไปด้วยเนื้อหา 6 บท ดังนี้

บทที่ 1 สภาวการณ์ของประเทศ (National Circumstances) ประกอบด้วย 6 หัวข้อ ได้แก่ 1) บริบททางกายภาพ เช่น สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ 2) พลังงาน 3) ทรัพยากรธรรมชาติ 4) สถานการณ์สิ่งแวดล้อม เช่น คุณภาพน้ำ คุณภาพอากาศ 5) สถานการณ์เศรษฐกิจและสังคม เช่น ภาพรวมเศรษฐกิจ ความยากจน และ 6) โครงสร้างเชิงสถาบันในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ

บทที่ 2 บัญชีก๊าซเรือนกระจกระดับประเทศ (National Greenhouse Gas Inventory) รายงานขอบเขตการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งกำเนิดในประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 – 2561 (ค.ศ. 2000 – 2018) โดย ปี พ.ศ. 2561 มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ (รวมภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน (LULUCF)) เท่ากับ 286,680.47 GgCO2eq (กิกะกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) และหากไม่รวมภาค LULUCF มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 372,648.77 GgCO2eq

บทที่ 3 การดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจก (Mitigation Measures) รายงานผลการติดตามประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจกตามการดำเนินงาน NAMA โดยปีสุดท้ายที่ติดตามประเมินผลในภาคพลังงานและขนส่ง ปี พ.ศ. 2563 มีปริมาณลดก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 56.54 MtCO2eq (ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) คิดเป็นร้อยละ 15.40 และสรุปการดำเนินงานในการปรับปรุงเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้เป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 (The 2nd updated NDC) และยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ (Thailand’s Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy: LT-LEDS) รวมถึงมาตรการสนับสนุนและการดำเนินการโครงการลดก๊าซเรือนกระจกโดยสมัครใจ

บทที่ 4 ความเปราะบาง และการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Vulnerability and Adaptation) ได้ดำเนินการจัดทำระบบฐานข้อมูลความเสี่ยงเชิงพื้นที่จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการประเมินความเสี่ยงและความเปราะบาง และการพัฒนาแผนที่ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แบบ TOP-Down Approach ซึ่งอ้างอิงตามข้อมูลผลการย่อส่วนแบบจำลองภูมิอากาศโลกด้วยวิธีพลวัตร ซึ่งเป็นข้อมูลจากโครงการ SEACLID/CORDEX SEA Phase II project ใน 3 แบบจำลองและ Ensemble และ RCP 2 รูปแบบ เพื่อจัดทำเป็นข้อมูลการคาดการณ์ภูมิอากาศในอนาคต (Climate Projection) และใช้ในการวิเคราะห์และจัดทำแผนที่ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประกอบด้วย ภัยแล้ง น้ำท่วม และความร้อน ร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลที่ไม่ใช่ภูมิอากาศ โดยพิจารณาจากข้อมูลเศรษฐกิจ-สังคม ประชากร และสิ่งแวดล้อม ใน 6 สาขา ได้แก่ การจัดการน้ำ การเกษตรและความมั่นคงด้านอาหาร การท่องเที่ยว สาธารณสุข การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ ที่เป็นตัวแทนแสดงในมิติความเปราะบางและการเผชิญความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

บทที่ 5 ข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบรรลุวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฯ (Other Information and Relevant Activities) การพัฒนาฐานข้อมูลและแผนงานด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย การพัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญ เช่น ภาคพลังงานเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีที่มุ่งไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์และความเป็นกลางทางคาร์บอน เช่น เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า เชื้อเพลิงไฮโดรเจน และกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีของประเทศไทย แผนงานด้านเทคโนโลยีและการพัฒนาสอดคล้องกับภาคส่วนสำคัญที่ระบุไว้ใน NDC และแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (National Adaptation Plan: NAP) รวบรวมงานวิจัยของประเทศไทยและการสังเกตการณ์อย่างเป็นระบบในภาคส่วนต่างๆ เช่น ชั้นบรรยากาศ บนบกและมหาสมุทร และกล่าวถึงการดำเนินงานของประเทศไทยด้านปฏิบัติการเสริมพลังความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Action for Climate Empowerment: ACE) ภายใต้มาตร 6 ของกรอบอนุสัญญาฯ ซึ่งรวมถึงกิจกรรมการมีส่วนร่วมด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชนและเข้าถึงข้อมูลสภาพภูมิอากาศ เช่น ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ฉลากคาร์บอนต่างๆ และความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับทวิภาคี ภูมิภาค และพหุภาคีเพื่อเพิ่มศักยภาพบุคลากร

บทที่ 6 ข้อจำกัด ช่องว่าง ความต้องการการสนับสนุนและการได้รับการสนับสนุน (Constraints and Gaps, and Support Received) ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ เพื่อดำเนินการด้านการลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัว และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย รวมถึงการจัดทำรายงานแห่งชาติ รายงานความก้าวหน้า การสนับสนุนนั้นมาจากทั้งกองทุนต่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ และประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ โดยในช่วงปี พ.ศ. 2563 – 2565 ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนทั้งหมด 34 โครงการ โดยแบ่งเป็นด้านการลดก๊าซเรือนกระจก 18 โครงการ เป็น 31,438,771 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ ด้านดำเนินมาตรการปรับตัว 10 โครงการ เป็นเงิน 48,667,056 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ ด้านการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย 6 โครงการ เป็นเงิน 3,419,548 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ และประเทศไทยได้รับการสนับสนุนด้านเทคนิคและการเสริมสร้างศักยภาพมากที่สุด