รายงานความก้าวหน้ารายสองปี ฉบับที่ 4 (Fourth Biennial Update Report: BUR4)
รายงานความก้าวหน้ารายสองปี (Biennial Update Report: BUR) เป็นรายงานที่จัดทำขึ้นตามข้อตัดสินใจที่ 2 ของการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 17 (Decision 2/CP.17) โดยประเทศไทยได้จัดส่งรายงานความก้าวหน้ารายสองปี ฉบับที่ 4 (Fourth Biennial Update Report: BUR4) ต่อสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 โดยประกอบไปด้วยเนื้อหา 4 บท ดังนี้
บทที่ 1 สภาวการณ์ของประเทศ (National Circumstances) ประกอบด้วย 6 หัวข้อ ได้แก่ 1) บริบททางกายภาพ เช่น สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ 2) พลังงาน 3) ทรัพยากรธรรมชาติ 4) สถานการณ์สิ่งแวดล้อม เช่น คุณภาพน้ำ คุณภาพอากาศ 5) สถานการณ์เศรษฐกิจและสังคม เช่น ภาพรวมเศรษฐกิจ ความยากจน และ 6) โครงสร้างเชิงสถาบันในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ
บทที่ 2 บัญชีก๊าซเรือนกระจกระดับประเทศ (National Greenhouse Gas Inventory) รายงานข้อมูลบัญชีก๊าซเรือนกระจก ปี พ.ศ. 2562 โดยมีการรายงานแนวโน้มการปล่อยและกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากในประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 – 2562 (ค.ศ. 2000 – 2019) โดย ปี พ.ศ. 2562 มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ (รวมภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน (LULUCF)) เท่ากับ 280,728.34 GgCO2eq (กิกะกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) และหากไม่รวมภาค LULUCF จะมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 372,716.86 GgCO2eq ซึ่งรายงาน BUR4 ได้เพิ่มเติมหัวข้อการเตรียมความพร้อมรองรับการรายงานในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Reporting) สำหรับเตรียมความพร้อมในการจัดทำรายงานความโปร่งใส (Biennial Transparency Reports: BTRs) ภายใต้ความตกลงปารีส
บทที่ 3 การดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจก (Mitigation Measures) ประกอบด้วยข้อมูลการรายงานแผนระดับชาติและแผนระดับภาคส่วน โดยเพิ่มเติม ยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) รายงานผลการติดตามประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจกตามการดำเนินงาน NAMA โดยปีสุดท้ายที่ติดตามประเมินผลในภาคพลังงานและขนส่ง ปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ทั้งสิ้น 56.54 MtCO2eq (ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) คิดเป็นร้อยละ 15.40 และรายงานเพิ่มเติมหัวข้อ Preparation for NDC Transition การเตรียมการรายงานในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อติดตามประเมินผลเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) ตามรูปแบบการจัดทำรายงาน BTR นอกจากนี้ได้มีการรายงานการปรับปรุงเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้ NDC ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 (The 2nd updated NDC) ซึ่งประเทศไทยได้จัดส่งไปยัง UNFCCC เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 และยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ (Thailand’s Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy: LT-LEDS)
บทที่ 4 ข้อจำกัด ช่องว่าง ความต้องการการสนับสนุนและการได้รับการสนับสนุน (Constraints and Gaps, and Support Received) ช่วงปี พ.ศ. 2563 – 2565 ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนทั้งหมด 34 โครงการ โดยแบ่งเป็นด้านการลดก๊าซเรือนกระจก 18 โครงการ เป็นเงิน 31,438,771 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ ด้านการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 10 โครงการ เป็นเงิน 48,667,056 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ ด้านการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย 6 โครงการ เป็นเงิน 3,419,548 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ และประเทศไทยได้รับการสนับสนุนด้านเทคนิคและการเสริมสร้างศักยภาพมากที่สุด และเพิ่มเติมหัวข้อ ข้อจำกัดในเชิงเทคนิคด้านบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศ