การจัดทำรายงานบัญชีก๊าซเรือนกระจก
การดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย เป็นการดำเนินงานตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nation Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมให้สัตยาบันเป็นภาคีในกรอบอนุสัญญา UNFCCC เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2537 (ค.ศ. 1994) โดยอนุสัญญา UNFCCC ได้กำหนดพันธกรณีแก่ประเทศภาคี โดยใช้หลักการ “ความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง โดยคำนึงถึงขีดความสามารถ” หรือ “Common but differentiated responsibilities and respective capabilities” โดยจำแนกประเทศภาคีเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มภาคผนวกที่ 1 (Annex I) คือ ประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้วที่มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากมาก่อน จัดเป็นกลุ่มที่ต้องมีพันธกรณีที่เป็นรูปธรรมในการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น มีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกและดำเนินมาตรการที่เกี่ยวข้อง กลุ่มภาคผนวกที่ 2 (Annex II) คือ ประเทศพัฒนาแล้วตามภาคผนวกที่ 1 แต่ไม่รวมประเทศที่มีการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ (จากสังคมนิยมเป็นทุนนิยม) โดยกลุ่มนี้ จัดเป็นกลุ่มที่ต้องให้การสนับสนุนทางการเงิน การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี และการสร้างศักยภาพ ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาในการลดก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกลุ่มนอกภาคผนวกที่ 1 (Non-Annex I) คือ ประเทศกำลังพัฒนา (ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศนอกภาคผนวกที่ 1) ซึ่งไม่มีพันธกรณีที่จะต้องตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก แต่มีพันธกรณีในการ
- จัดทำและปรับปรุงบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศ รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวให้ประเทศภาคีอนุสัญญาฯ ทราบ
- จัดทำแผนของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกรายสาขา ซึ่งรวมถึงพลังงาน คมนาคมขนส่ง อุตสาหกรรม เกษตร ป่าไม้ และการจัดการของเสีย
- สนับสนุนการอนุรักษ์แหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ ป่าไม้ ชีวมวล และระบบนิเวศ ทั้งบนบก ชายฝั่ง และทางทะเล
- ประสานความร่วมมือเพื่อรับมือและปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- คำนึงถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการกำหนดนโยบายและแผนด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
- ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้อง
- ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงวิชาการ เชิงเศรษฐกิจสังคม และเชิงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- ส่งเสริมความร่วมมือในการให้การศึกษา การฝึกอบรม และการสร้างความตระหนักแก่สาธารณชนในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- จัดทำรายงานแห่งชาติ ครอบคลุมข้อมูลบัญชีก๊าซเรือนกระจก สถานการณ์และการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ เผยแพร่ให้แก่ประเทศภาคีทราบ
ในการคำนวณใช้ข้อมูลปี พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) เป็นปีฐาน โดยการรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบ่งออกเป็น 5 ภาคได้แก่ ภาคพลังงาน ภาคกระบวนการอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร ภาคการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่และป่าไม้ และภาคของเสีย คำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 6 ชนิดตามที่กำหนดในรายงานของสหประชาชาติ ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide: CO2), มีเทน (Methane: CH4), ไนตรัสออกไซด์ (Nitrous Oxide: N2O), ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (Hydrofluorocarbon: HFC), เปอร์ฟลูออโรคาร์บอน (Perfluorocarbon: PFC) และซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (Sulfur Hexafluoride: SF6) โดยรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมของประเทศ (National Total) ด้วยหน่วยคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (เทียบค่าก๊าซทั้ง 6 ชนิด) ด้วยค่าศักยภาพที่ทำให้โลกร้อน (Global Warming Potential)