คณะทำงานอาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ASEAN Working Group on Climate Change: AWGCC)
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีความเปราะบางสูงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและถูกจัดลำดับจากองค์กร Germanwatch ให้อยู่ในประเภทของประเทศที่มีความเสี่ยงสูงมาก (Extreme Risk) ลำดับที่ 12 ของโลก และมีความเสี่ยงสูงในระยะยาวเป็นลำดับที่ 9 ขณะที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่น ๆ ได้แก่ เมียนมา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ถูกจัดลำดับให้มีความเสี่ยงสูงในระยะยาวเป็นลำดับที่ 3 5 และ 8 ตามลำดับ ซึ่งจากผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดังกล่าว ทำให้สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations: ASEAN) ตระหนักถึงปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและได้บรรจุปัญหาดังกล่าวอยู่ในเสาหลักที่ 3 ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community: ASCC) จากทั้งหมด 3 เสาหลักอาเซียน ซึ่งแผนโครงสร้างประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ปี 2558 (ASCC Blueprint 2009-2015) ได้ถูกรับรองจากสมาชิกประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2552 – 2558 และถูกบรรจุอยู่ในส่วนหนึ่งของแผนที่นำทางสำหรับประชาคมอาเซียน ปี 2552 – 2558 (Roadmap for an ASEAN Community 2009-2015) ร่วมกับแผนโครงการของเสาหลักอื่น ๆ และพัฒนาเป็นแผนงานประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ปี 2568 (ASCC Blueprint 2025)
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญของแผนยุทธศาตร์อาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๕๙ – ๒๕๖๘ (ASEAN Strategic Plan on Environment: ASPEN) ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาโดยใช้แผนงานประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ปี 2568 (ASCC Blueprint 2025) เป็นต้นแบบ โดยมี 7 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย (1) การอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ (2) สิ่งแวดล้อมชายฝั่งและทะเล (3) การจัดการทรัพยากรน้ำ (4) การจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองอย่างยั่งยืน (5) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (6) สารเคมีและขยะ (7) การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและการบริโภคและผลิตอย่างยั่งยืน ซึ่งแต่ละยุทธศาสตร์ได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้น โดยคณะทำงานอาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ASEAN Working Group on Climate Change: AWGCC) มีหน้าที่กำหนดกรอบแนวทางในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการจัดทำ (ร่าง) แถลงการณ์ร่วมอาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการแสดงจุดยืนร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศต่อการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อนำไปกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of the Parties: COP) ที่จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และการจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการอาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์อาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม (ASPEN) และเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานให้บรรลุแผนงานประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ปี ค.ศ. 2025 (ASCC Blueprint 2025) ซึ่ง (ร่าง) แผนปฏิบัติการอาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีการดำเนินงานใน ๕ ด้านหลัก ได้แก่ (1) การปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความสามารถในการฟื้นตัวและรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากากศ (2) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (3) การถ่ายทอดเทคโนโลยี (4) การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ (5) การประสานงานกับสาขาอื่น ๆ ที่คาบเกี่ยวและความร่วมมือในระดับโลก ทั้งนี้ เนื่องจากปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบในวงกว้างต่อหลากหลายสาขา อาทิ พลังงาน การคมนาคม การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สาธารณสุข การเกษตร และเศรษฐกิจ เป็นต้น จึงต้องอาศัยการแก้ปัญหาแบบองค์รวมและความร่วมมือจากหลายภาคส่วนและหลายประเทศในการบูรณาการ เพื่อการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนในการกำหนดประเด็นและมุมมองที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกัน