UNFCCC

ความเป็นมาของการเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

เพราะว่าสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง เขาบอกว่าเพราะมีสารคาร์บอนขึ้นไปในอากาศมาก จะทำให้เหมือนเป็นตู้กระจกครอบ แล้วโลกนี้ก็จะร้อนขึ้น

เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ ณ ศาลาดุสิตาลัย พระราชวังดุสิต
สถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันมีสาเหตุมาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นตัวเร่งสำคัญที่ก่อให้เกิดการสั่งสมของปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศทำให้ปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจกและความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในทุกภูมิภาคของโลก อาทิ อุณหภูมิเฉลี่ยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ปริมาณนํ้าฝนเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นในฤดูนํ้าหลากและน้อยลงในฤดูนํ้าแล้ง จำนวนวันที่อากาศร้อนเพิ่มมากขึ้นและจำนวนวันที่อากาศเย็นลดลง โดยส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติ เช่น อุทกภัย ภัยแล้ง และวาตภัย ที่รุนแรงและ
บ่อยครั้งขึ้น เป็นต้น ซึ่งกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในหลายสาขา รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ ชนิดพันธุ์พืช ชนิดพันธุ์สัตว์ การย้ายถิ่นฐานของประชากร และการแพร่กระจายของโรค
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นได้ส่งผลให้เกิดความร่วมมือของประชาคมโลกเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change) หรือ อนุสัญญา UNFCCC ซึ่งได้รับการรับรองเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๓๕ (ค.ศ. ๑๙๙๒) และเปิดให้รัฐภาคีลงนามในอีกหนึ่งเดือนต่อมาระหว่างการประชุม United Nations Conference on Environment and Development (UNCED) หรือที่รู้จักกันในนามของ Earth
Summit ณ นครริโอ เดอจาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล โดยอนุสัญญา UNFCCC มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๓๗ (ค.ศ. ๑๙๙๔) ซึ่งปัจจุบันมีประเทศเข้าร่วมรวมทั้งสิ้นจำนวน ๑๙๖ ประเทศ และสหภาพยุโรป ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๓๗ ส่งผลให้อนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้กับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๓๘ และต่อมาได้ให้สัตยาบันเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีพิธีสารเกียวโตเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๕ ในฐานะภาคีสมาชิกในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนานอกภาคผนวกที่ ๑ (Non-Annex I) ซึ่งไม่มีพันธกรณีที่จะต้องลดก๊าซเรือนกระจกโดยตรง แต่สามารถพิจารณาดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามความสมัครใจ

Related link to “Read More…”: https://unfccc.int/bigpicture, https://unfccc.int/timeline/