การจัดทำกฎหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การจัดทำกฎหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ และมีแนวทางการดำเนินการร่วมกับนานาประเทศในการรักษาระดับความเข้มข้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจก
ในชั้นบรรยากาศและปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนได้พัฒนาการดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมภายในประเทศ เพื่อรองรับพันธกรณีที่เกิดขึ้นในระดับนานาชาติมาโดยตลอดจวบจนปัจจุบัน ซึ่งกำลังจะเข้าสู่กรอบการดำเนินงานตามข้อกำหนดของความตกลงปารีสที่มุ่งเน้นให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพูมิอากาศเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๓ (ค.ศ. ๒๐๓๐) เป็นต้นไป ดังนั้น ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องเตรียมการด้านโครงสร้างเชิงสถาบันและกฎหมายภายในประเทศให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการดำเนินงานร่วมกับนานาชาติดังกล่าวได้อย่างยั่งยืนและแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง สิ่งแวดล้อม ประเด็นปฏิรูปที่ ๓ ผลักดันทุกภาคส่วนให้ร่วมแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งได้กำหนดให้มีการออกประกาศ พระราชบัญญัติ (พรบ.) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ เพื่อช่วยให้ประเทศไทยมีความพร้อมโดยเสริมสร้างระบบและกลไกภายในประเทศให้สามารถดำเนินภารกิจดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
(ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ที่มา: แผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องสิ่งแวดล้อม
ประเด็นปฏิรูปที่ 3: ผลักดันทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ประเด็นย่อยที่เกี่ยวข้อง: EIA Climate Change การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกและแผนที่เสี่ยงภัย แรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ การเสริมสร้างตระหนักรู้/การศึกษา
กระบวนการดำเนินงาน

สผ. ดำเนินการ (ร่าง) พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …..
องค์ประกอบของกฎหมายประกอบด้วย

  1. โครงสร้างเชิงสถาบัน
  2. การลดก๊าซเรือนกระจก
  3. การปรับตัวต่อผลกระทบ
  4. แรงจูงใจ/เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์

ในปี พ.ศ. 2562
นำ (ร่าง) พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. ….. ประเมินผลกระทบทางด้านกฎหมายตามมาตรา 77 ตามรัฐธรรมนูญฯ

ในปี พ.ศ. 2563
นำ (ร่าง) พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. ….. เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติหลักการ

คณะรัฐมนตรีผ่านความเห็นชอบ
นำเสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในลำดับต่อไป

การดำเนินงานที่ผ่านมา

  1. คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2562 ได้มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านกฎหมาย
    เพื่อสนับสนุนการบริหารราชการแผ่นดินในการขับเคลื่อนนโยบายและให้ข้อเสนอแนะทางวิชาการในประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  2. สผ. ได้ดำเนินการจัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. ที่มีความสอดคล้องตามนัยของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ภายใต้พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 โดยได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของร่างกฎหมายตลอดช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม 2564 รวมทั้งการสัมภาษณ์และเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคการศึกษา ตลอดจนผู้สนใจแสดงความคิดเห็นต่อกฎหมายผ่านระบบสารสนเทศของ สผ. พร้อมทั้งดำเนินการคู่ขนาน ลงพื้นที่จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะทั่วประเทศ พร้อมทั้งได้รวบรวมความคิดเห็นที่มีต่อร่างกฎหมายจากผู้ตอบแบบสอบถามและให้สัมภาษณ์ รวมทั้งผู้เข้าร่วมประชุมใน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ (ภาคกลาง ณ กรุงเทพมหานคร ภาคเหนือ ณ จังหวัดเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดขอนแก่น ภาคใต้ ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช ภาคตะวันออก ณ จังหวัดชลบุรี) เพื่อนำมาปรับปรุงร่างกฎหมายให้เป็น “(ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. (ฉบับผ่านการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ)” พร้อมทั้งวิเคราะห์แนวทางจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย
  3. คณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านกฎหมาย รับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และเห็นชอบในหลักการปรับปรุง (ร่าง) พระราชบัญญัติฯ ตามที่ สผ. เสนอ
  4. คณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านกฎหมาย ได้เห็นชอบต่อ “(ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. (ฉบับผ่านการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ)” และมอบหมายให้ สผ. นำเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติต่อไป
  5. คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เห็นชอบในหลักการของ “(ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. (ฉบับผ่านการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ)” และมอบหมายให้ สผ. ปรับปรุง (ร่าง) พระราชบัญญัติฯ ตามข้อคิดเห็นของคณะกรรมการพัฒนากฎหมายฯ ก่อนนำเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ
  6. คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เห็นชอบต่อ (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. และให้ สผ. รับข้อคิดเห็นจากคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติไปพิจารณาปรับปรุง (ร่าง) พระราชบัญญัติฯ และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาในกระบวนการนิติบัญญัติตามลำดับต่อไป
  7. สผ. เสนอ (ร่าง) พระราชบัญญัติฯ ให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอน โดย สลค. มีความเห็นให้ปรับปรุงรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายของ (ร่าง) พระราชบัญญัติฯ และส่งรายงานฉบับปรับปรุงให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

การดำเนินงานในปัจจุบัน

  1. ปัจจุบัน สผ. อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายของ (ร่าง) พระราชบัญญัติฯ
  2. สผ. อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุง (ร่าง) พระราชบัญญัติฯ และกฎหมายลำดับรอง ให้สอดคล้องกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065) โดยอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษากลไกและมาตรการที่เหมาะสม เช่น การออกแบบ จัดเก็บ รวบรวมข้อมูลก๊าซเรือนกระจกของประเทศ การศึกษาการกำหนดราคาคาร์บอนที่มีการซื้อขายภายในและระหว่างประเทศ การศึกษาวิเคราะห์เหตุผลและผลกระทบของกลไกใน (ร่าง) พระราชบัญญัติฯ รวมถึงระบบคณะกรรมการและอนุญาต การวิเคราะห์มาตรการและกลไกในปัจจุบัน รวมถึงการวิเคราะห์มาตรการทางเลือกที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนและนโยบายของประเทศ โดยไม่สร้างภาระในการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน และจะมีการปรึกษาหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงกระบวนการของกองทุนสิ่งแวดล้อมให้สามารถรับเงินจากกองทุนระหว่างประเทศเพื่อให้สนับสนุนโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศ สำหรับประเด็นความเห็นอื่นๆ ตามข้อเสนอเชิงหลักการ สผ. จะนำมาศึกษาและปรับปรุง (ร่าง) พระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวต่อไป และจะเชิญผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มาร่วมกันพิจารณาและจัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติฯ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป