แนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต
ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีความตกลงปารีส เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๙ ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้ว เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ โดยข้อ ๖ ของความตกลงปารีสเป็นการใช้กลไกตลาดในรูปแบบของความร่วมมือทวิภาคีและพหุภาคี ที่ระบุว่าภาคีสามารถดำเนินความร่วมมือโดยสมัครใจ ภายใต้แนวทางความร่วมมือที่มีการใช้ผลการลดก๊าซเรือนกระจกที่ถ่ายโอนระหว่างประเทศเพื่อบรรลุการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution: NDC) ซึ่งต้องส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน
และมีความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม (Environmental Integrity) และความโปร่งใส รวมถึงการกำกับดูแลและการจัดทำบัญชีที่เข้มข้น สอดคล้องกับความตกลงปารีส ทั้งนี้ การใช้ผลการลดก๊าซเรือนกระจกที่ถ่ายโอนระหว่างประเทศ เพื่อบรรลุ NDC ต้องได้รับอนุญาตจากภาคีที่เข้าร่วมแนวทางที่รับรองโดยที่ประชุมรัฐภาคีซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ประชุมรัฐภาคี
แนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต เป็นเรื่องที่มีความสำคัญในการดำเนินการสร้างแรงจูงใจให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มแหล่งดูดซับคาร์บอน อันจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ภายในปี ค.ศ. ๒๐๕๐ ผ่านการขับเคลื่อนการดำเนินงานโดยใช้กลไกตลาดคาร์บอนในการลดก๊าซเรือนกระจกและเป็นแนวทางกลไกสนับสนุนการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตของประเทศ รวมถึงรองรับการปฏิบัติตามพันธกรณีของประเทศไทยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
