ระหว่างประเทศ

กรอบการพิจารณาขอรับการสนับสนุนทางการเงินระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (Thailand Country Programme: TCP)

กรอบการพิจารณาขอรับการสนับสนุนทางการเงินระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ได้รับการออกแบบมาเพื่อเป็นเครื่องมือและกรอบยุทธศาสตร์ที่แสดงถึงลำดับความสำคัญของภาคส่วนที่ต้องการการสนับสนุนและมาตรการในด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรอบการพิจารณาฯ ได้รับการออกแบบมาเพื่อเป็นเอกสารอ้างอิงหลักสำหรับการร่วมงานกับผู้เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศรวมถึงกองทุน GCF กองทุนระหว่างประเทศและประเทศผู้ให้เงินสนับสนุน (Donors) ด้านสภาพภูมิอากาศอื่น ๆ เพื่อช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายระยะยาวในการเป็น
“สังคมคาร์บอนตํ่าและมีภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” รวมทั้งนำไปใช้ประโยชน์โดยเป็นแนวทางให้หน่วยงานทั้งในและนอกประเทศที่ประสงค์จะพัฒนาและเสนอข้อเสนอโครงการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์

วัตถุประสงค์ของกรอบการพิจารณา

  1. เสริมสร้างความร่วมมือในการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ กับผู้เกี่ยวข้องจากหลายภาคส่วน เช่น กระทรวงที่เกี่ยวข้อง สถาบันต่าง ๆ ในประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ ประเทศผู้ให้เงินบริจาค รวมถึงภาคเอกชนและภาคประชาสังคม
  2. ก่อให้เกิดการประสานเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศเข้ากับแหล่งเงินทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งในและนอกประเทศอย่างเหมาะสม
  3. ก่อให้เกิดนโยบายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีระบบการติดตามการดำเนินงานเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศที่ดีขึ้น และก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันจากการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

กรอบการพิจารณาฯ มีกรอบการทบทวนและปรับเปลี่ยนทุก 5 ปีหรือตามสมควร เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของหลักเกณฑ์และนโยบายในระดับชาติและระดับนานาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพื่อให้สอดรับกับความต้องการเร่งด่วนของไทยในด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีความช่วยเหลือด้านเทคนิค และความช่วยเหลือด้านการเงิน เพื่อให้การดำเนินงานของประเทศบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 30 – 40 ภายในปี พ.ศ. 2573 รวมถึงเป้าหมายการดำเนินงานด้านการเสริมสร้างภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการฟื้นตัวของประเทศจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย

หลักเกณฑ์การพิจารณาขอรับการสนับสนุนทางการเงินระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย

NDA ประเทศไทยได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่ใช้ประกอบการพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อข้อเสนอโครงการ GCF ก่อนออกหนังสือรับรองว่าประเทศไม่มีข้อคัดค้าน เพื่อความมั่นใจว่าโครงการหรือแผนงานมีความสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติ อีกทั้งยังตอบรับกับประเด็นสำคัญและความต้องการที่กำหนดไว้ในกรอบการดำเนินงานของประเทศ (TCP) และไม่ขัดต่อกฎหมายหรือกฎระเบียบ ซึ่ง NDA จะเน้นการพิจารณาและประเมินผลใน 3 ด้าน ได้แก่ ความเป็นเจ้าของประเทศ การตอบสนองต่อความต้องการของประเทศและผู้รับ และมาตรฐานการปกป้องด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และนโยบายเพศภาวะ

ความเป็นเจ้าของประเทศ

หลักเกณฑ์

  1. ความสอดคล้องกับโยบายชาติและยุทศาสตร์ชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  2. การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

การตอบสนองต่อความต้องการของประเทศและผู้รับ

หลักเกณฑ์

  1. การสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายที่ระบุไว้ใน NDC
  2. การเสริมสร้างภูมิต้านทานและความสามารถในการพื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  3. ลดความเปราะบางต่อการปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอกาศของประเทศและในกลุ่มเสี่ยง
  4. ส่งเสริมการพัฒนาเศรษกิจและสังคมของประเทศและกลุ่มประชากรเป้าหมาย
  5. เสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันและเพิ่มศักยภาพการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

มาตรฐานการปกป้องด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และนโยบายเพศภาวะ

หลักเกณฑ์

  1. การปกป้องด้านสังคม
  2. การปกป้องด้านสิ่งแวดล้อม
  3. การพัฒนาที่คำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศ
ขั้นตอนการออกหนังสือรับรอง โดย NDA

ขั้นตอนการออกหนังสือรับรอง โดย NDA มี 6 ขั้นตอน

ขั้นตอนที่ 1 NDA พิจารณาข้อเสนอโครงการ/แผนงานในเบื้องตัน ตามหลักเกณฑ์การพิจารณาขอรับการสนับสนุนทางการเงินระหว่างประเทศไทยด้านการเปลี่นแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย โดยอาศัยกลไกการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ
– ระยะเวลาของดำเนินการ 1 สัปดาห์
ขั้นตอนที่ 2 NDA ส่งผลการประเมินโครงการเบื้องต้น “คณะทำงานพิจารณาและกลั่นกรองโครงการที่ขอรับการสนับสนุนทางการเงินในกรอบระหว่างประเทศ” เพื่อพิจารณาให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อหลักการและกิจกรรมของโครงการ
– ระยะเวลาของดำเนินการ 4 สัปดาห์
ขั้นตอนที่ 3 NDA ส่งข้อเสนอโครงการที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะทำงานพิจารณาและกลั่นกรองฯ ให้ “คณะอนุกรรมการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอกาศด้านการบูรณาการนโยบายและแผน” เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบออกหนังสือรับรองที่ประเทศไทยไม่มีข้อคัดค้าน (NOL) เพื่อเสนอกองทุน GCF ต่อไป
– ระยะเวลาของดำเนินการ 4 สัปดาห์
ขั้นตอนที่ 4 NDA รายงานผลการพิจรณาของคณะอนุกรรมการฯ ต่อ “คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (กนภ.)” ให้ได้รับทราบ
– ระยะวลาของดำเนินการขึ้นอยู่กับกำหนดการประชุมรายไตรมาสของคณะกรรมการฯ
ขั้นตอนที่ 5 ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้มีอำนาจ (Designated Authority) พิจารณาเห็นชอบและลงนามในหนังสือ NOL
– ระยะเวลาของดำเนินการ 1 สัปดาห์
ขั้นตอนที่ 6 NDA นำส่งหนังสือ NOL ให้สำนักเลขาธิการกองทุน (GCF Secretariat)
– ระยะเวลาของดำเนินการ 1 สัปดาห์