โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ ในอุตสาหกรรมปรับอากาศและทำความเย็น (RAC NAMA)
ผู้สนับสนุนเงินทุน | กองทุน NAMA Facility |
งบประมาณ | 14.7 ล้านยูโร |
หน่วยงานดำเนินการ | องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) |
หน่วยงานดำเนินการหลักในประเทศไทย | กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานกระทรวงพลังงาน |
หน่วยงานสนับสนุนและประสานงาน | สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม |
ระยะเวลา | 60 เดือน (เมษายน 2559 – มีนาคม 2564) |
สอบถามข้อมูล | นายกิตติศักดิ์ พฤกษ์กานนท์ ผู้อำนวยการกลุ่มมาตรการและกลไก กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สผ. โทร. 0 2265 6692 อีเมล์: kprukkanone@yahoo.com |
เวปไซต์โครงการ | https://racnama.org/ |
หลักการและเหตุผล
ประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงผ่านข้อเสนอการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (Intended Nationally Determined Contributions, INDCs) โดยมีการตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ร้อยละ 20 ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) เมื่อเทียบกับกรณีฐานปกติ และมีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มอีกร้อยละ 5 เมื่อได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศผ่านการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี การสร้างเสริมศักยภาพ และงบประมาณซึ่งจากการศึกษาในภาคอุตสาหกรรมระบบปรับอากาศและทำความเย็น (RAC) พบว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยกว่าร้อยละ 20 เกิดจากกระบวนการดังกล่าว และจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าภายในปี พ.ศ.2573 (ค.ศ. 2030) และแม้ว่าในปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีระบบปรับอากาศและทำความเย็นสีเขียวที่ประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงขึ้น รวมถึงการใช้สารทำความเย็นจากธรรมชาติที่ไม่เป็นอันตรายต่อชั้นบรรยากาศของโลก แต่เทคโนโลยีดังกล่าวยังไม่ได้นำมาใช้อย่างแพร่หลาย เนื่องจากยังขาดความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค และขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมถึงอุปสรรคทั้งในเรื่องของอุปสงค์และอุปทานของสินค้าดังกล่าวในตลาดด้วย
ประเทศไทยโดย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จึงร่วมกันดำเนินโครงการ RAC NAMA โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการสนับสนุนรัฐบาลไทยให้สามารถบรรลุเป้าหมายการลดการใช้พลังงานตามแผนอนุรักษ์พลังงานและเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้แสดงเจตจำนงไว้ต่อการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการดำเนินงานการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (Nationally Appropriate Mitigation Action – NAMA) ในภาคอุตสาหกรรมประเภทระบบปรับอากาศและทำความเย็น ซึ่งโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกองทุน NAMA Facility ผ่านการดำเนินการและประสานงานขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย
โครงการ RAC NAMA มุ่งหวังที่จะสนับสนุนการผลิตอย่างยั่งยืนและการใช้เทคโนโลยีทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อชั้นบรรยากาศ เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบูรณาการ (Transformational Change) ในภาคอุตสาหกรรมประเภทระบบปรับอากาศและทำความเย็น ทั้งนี้ โครงการมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนการผลิตและการใช้เครื่องปรับอากาศและตู้ทำความเย็นที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงและใช้สารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อชั้นบรรยากาศ โดยประมาณการว่าจะส่งผลให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกลงจำนวน 0.9 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2eq) ต่อปี นอกจากนี้โครงการยังมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดในด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น การเพิ่มโอกาสในการจ้างงานและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการโดยการลดต้นทุนการผลิต การลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าในภาคอาคารธุรกิจและครัวเรือน เป็นต้น