แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (NAP)
ในปี พ.ศ. 2561 ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 9 ของประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดในโลกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว ทั้งจากอุณหภูมิเฉลี่ยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นในฤดูน้ำหลากและน้อยลงในฤดูแล้ง ซึ่งส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติ อาทิ อุทกภัย ภัยแล้ง และวาตภัย ที่รุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น ผลกระทบเหล่านี้ ส่งผลเสียหายต่อภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น การเกษตร การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม เป็นต้น รวมถึงการบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาเมือง การย้ายถิ่นฐานของประชากร การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการแพร่กระจายของโรค อ้างอิงจาก German watch ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงผลกำไรของประเทศเยอรมัน ได้ประเมินและจัดอันดับประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก โดยระหว่างปี พ.ศ. 2540 -2559 (The Long-Term Climate Risk Index (CRI): World Map of the Global Climate Risk Index ค.ศ. 1997 –2016) งานศึกษาดังกล่าวได้ระบุว่าเนื่องจากประเทศไทยประสบมหาภัยพิบัติจึงถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยตลอด 20 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติถึง 137 ครั้งโดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2554 ซึ่งเกิดมหาอุทกภัย คิดเป็นร้อยละ 87 ของความเสียหายที่ผ่านมาทั้งหมด ซึ่งธนาคารโลกได้ประเมินมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ รายงานของ IPCC ปี ค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557) ได้ระบุว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มีความเปราะบางสูงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งหากพิจารณาร่วมกันทั้งในแง่ขนาดของเศรษฐกิจและจำนวนผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติจะพบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในโลกในปี พ.ศ. 2554 โดยมีพื้นที่ 65 จาก 77 จังหวัดของไทยต้องเผชิญกับเหตุน้ำท่วมครั้งรุนแรงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 900 ราย รวมทั้งประชากรไม่ต่ากว่า 13.6 ล้านคนได้รับผลกระทบ รวมถึงพื้นที่การเกษตรมากกว่า 20,000 ตารางกิโลเมตร ได้รับความเสียหาย
ในการดำเนินการเพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (กปอ.) ในฐานะหน่วยประสานงานกลางของประเทศภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) ได้จัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 –2593 ซึ่งเป็นแผนระยะยาว 36 ปี เพื่อใช้เป็นกรอบนโยบายในการกำหนดทิศทางของประเทศให้มุ่งสู่การมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีการเติบโตแบบปล่อยคาร์บอนต่ำตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี พ.ศ. 2593 ประกอบด้วย 3 แนวทาง ได้แก่ (1) การปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2) การลดก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการเติบโตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ และ (3) การสร้างขีดความสามารถด้านการบริการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพื่อให้การดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีกรอบแนวทางที่ชัดเจนขึ้น ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
จึงได้ดำเนินโครงการศึกษาเพื่อวางแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (The National Adaptation Plan: NAP) ระยะที่ 1 เพื่อศึกษาและประเมินความเปราะบางจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Vulnerability assessment) ด้านต่างๆ ของประเทศไทยในเชิงพื้นที่รายภูมิภาคและรายจังหวัด และในรายสาขาทั้ง 6 สาขาตามแผนแม่บทฯ และในแต่ละพื้นที่ พร้อมทั้งจัดทำแผนที่พื้นที่เสี่ยง/พื้นที่เปราะบางของประเทศ จัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศและภูมิสารสนเทศด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศตามผลการศึกษาดังกล่าว ต่อมาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ได้ดำเนินโครงการศึกษาเพื่อวางแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการดำเนินงานต่อเนื่อง โดยรวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best practices) ด้านการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีอยู่ในประเทศ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ
รวมทั้งใช้ประโยชน์จากผลการศึกษาของโครงการในระยะที่ 1 ที่ได้ผ่านการวิเคราะห์จุดอ่อน ช่องว่างและความต้องการ (Gaps and needs) เพื่อประกอบการจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ในรายสาขา และเชิงพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งกระบวนการจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าว ได้ผ่านการประชุมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากคณะทำงานกำกับด้านวิชาการโครงการฯ จากผู้เชี่ยวชาญและผู้เกี่ยวข้องครบทุกภาคส่วน ได้แก่ ภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ ทั้งระดับภูมิภาค (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้) และระดับประเทศ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ มีความครอบคลุมและเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ในปี พ.ศ. 2561 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงมีการทบทวนและจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติให้สอดคล้องกับความร่วมมือระหว่างประเทศ