กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change)

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นได้ส่งผลให้เกิดความร่วมมือของประชาคมโลกเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change) หรือ อนุสัญญา UNFCCC ซึ่งได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2535 (ค.ศ. 1992) และเปิดให้รัฐภาคีลงนามในอีกหนึ่งเดือนต่อมาระหว่างการประชุม United Nations Conference on Environment and Development (UNCED) หรือที่รู้จักกันในนามของ Earth
Summit ณ นครริโอ เดอจาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล โดยอนุสัญญา UNFCCC มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2537 (ค.ศ. 1994) ซึ่งปัจจุบันมีประเทศเข้าร่วมรวมทั้งสิ้นจำนวน 196 ประเทศ และสหภาพยุโรป ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2537 ส่งผลให้อนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้กับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2538 และต่อมาได้ให้สัตยาบันเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีพิธีสารเกียวโตเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2545 ในฐานะภาคีสมาชิกในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนานอกภาคผนวกที่ 1 (Non-Annex I) ซึ่งไม่มีพันธกรณีที่จะต้องลดก๊าซเรือนกระจกโดยตรง แต่สามารถพิจารณาดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามความสมัครใจ